พระนิรันตรายองค์ใน (องค์ดั้งเดิม) พระนิรันตราย (องค์ครอบ)
พระนิรันตรายพระพุทธรูปเก่าแก่ที่มีการค้นพบในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) นับเป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญประจำรัชกาลองค์หนึ่งโปรดฯ ให้อัญเชิญประดิษฐานในพระแท่นมณฑลในพระราชพิธีต่างๆ อาทิ พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (ทำบุญตรุษ), พระราชพิธีสงกรานต์ ฯลฯ ปัจจุบัน เจ้าพนักงานภูษามาลายังรักษาแบบแผนโบราณราชประเพณีโดยอัญเชิญ‘พระนิรันตราย’ไปประดิษฐานในพระราชพิธีสำคัญ เช่น ในการบำเพ็ญพระราชกุศลวันเฉลิมพระชนมพรรษา และการพระราชกุศลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัด ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นต้น
พระนิรันตราย เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำ ค้นพบเมื่อปีพ.ศ.2399 ตามประวัติกล่าวไว้ว่า ...
กำนันอิน ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่เมืองปราจีนบุรี ท่านฝันว่าจับช้างเผือกได้ หลังจากนั้นไม่นานท่านกับบุตรชายชื่อนายยัง ได้เดินทางเข้าป่าเพื่อขุดมันนกในบริเวณชายป่า ห่างจาก‘ดงศรีมหาโพธิ์’ ประมาณ 3 เส้น ก็ได้พบพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำเนื้อหก มีน้ำหนักถึง 8 ตำลึง(บริเวณดงศรีมหาโพธิ์นั้น เคยเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณที่เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยทวารวดี นักโบราณคดีเคยขุดพบเทวสถานและเชิงเทินเมืองโบราณ รูปศิลาที่สลักเป็นพระปางนาคปรก และรูปสัมฤทธิ์ที่หล่อเป็นรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม โบราณวัตถุที่ขุดค้นพบนี้ เป็นฝีมือช่างสมัยเดียวกันกับทวารวดีหรืออู่ทอง)
กำนันอินจึงนำไปมอบให้พระเกรียงไกรกระบวนยุทธ์ ปลัดเมืองฉะเชิงเทรา พระเกรียงไกรฯ พากำนันอินและนายยังเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระพุทธรูปทองคำ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ว่าสองพ่อลูกมีกตัญญูต่อพระพุทธศาสนาและพระเจ้าแผ่นดิน ขุดได้พระทองคำแล้วไม่ทำลาย หรือซื้อขายเป็นประโยชน์ส่วนตัว แล้วยังมีน้ำใจนำมาทูลเกล้าฯ ถวาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเงินตราให้เป็นรางวัล และโปรดให้เจ้าพนักงานอัญเชิญพระพุทธรูปทองคำไปประดิษฐาน ณ หอพระเสถียรธรรมปริตร คู่กับ พระกริ่งทองคำน้อย
ในปีพ.ศ.2403 มีคนร้ายลักลอบเข้าหอเสถียรธรรมปริตร ลักเอาพระกริ่งทองคำองค์น้อยไป เป็นที่น่าแปลกใจที่กลับไม่เอาพระพุทธรูปทองคำที่ประดิษฐานอยู่คู่กันไปด้วย ทั้งที่องค์พระมีขนาดเขื่องกว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า ...
พระพุทธรูปซึ่งกำนันอินทูลเกล้าฯ ถวายนั้น เป็นทองคำทั้งแท่งและใหญ่กว่าพระกริ่ง ควรที่คนร้ายจะลักองค์ใหญ่ไปแต่กลับละไว้ เช่นเดียวกับผู้ที่ขุดได้ไม่ทำอันตราย เป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่แคล้วคลาดถึง 2 ครั้ง พระองค์จึงทรงถวายพระนามว่า "พระนิรันตราย"
จากนั้น พระองค์ทรงพระราชดำริให้เจ้าพนักงานทำการหล่อพระพุทธรูปนั่ง ปางสมาธิเพชร เนื้อทองคำ ขนาดหน้าตักกว้าง 5 นิ้วครึ่ง เพื่อสวมพระนิรันตรายไว้อีกชั้นหนึ่ง และโปรดฯ ให้หล่อเป็นเนื้อเงินบริสุทธิ์อีกองค์หนึ่งไว้คู่กัน
พระนิรันตราย มีซุ้มเรือนแก้ว ที่พระราชทาน ณ พระอาราม คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย 18 องค์
เมื่อพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตมีพระอารามมากขึ้น ในปี พ.ศ.2411 พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระ พุทธรูปพิมพ์เดียวกันเป็นเนื้อทองเหลือง โดยมีเรือนแก้วเป็นพุ่มพระมหาโพธิ์ มีอักขระขอมจำหลักลงในวงกลีบบัว เบื้องหน้า 9 เบื้องหลัง 9 ยอดเรือนแก้วเป็นรูปพระมหามงกุฎ จำนวน 18 องค์ เท่ากับจำนวนปีที่เสด็จอยู่ในสิริราชสมบัติ เพื่อจะพระราชทานเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญประจำพระอารามต่างๆ แต่ยังไม่ทันกะไหล่ทอง พระองค์ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายช่างทำการกะไหล่ทองคำทั้ง 18 องค์ให้แล้วเสร็จ และพระราชทานไปตามวัดคณะธรรมยุตตามพระราชประ สงค์ของพระบรมราชชนก ประกอบด้วย 1.วัดราชาธิวาส2.วัดบวรนิเวศวิหาร3.วัดเทพศิรินทราวาส4.วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม5.วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม6.วัดบรมนิวาส7.วัดมกุฏกษัตริยาราม8.วัดโสมนัสวิหาร9.วัดบูรณศิริมาตยาราม10.วัดราชผาติการาม11.วัดปทุมวนาราม12.วัดสัมพันธวงศ์13.วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ จ.พระนครศรีอยุธยา14.วัดเสนาสนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา15.วัดเขมาภิรตาราม จ.นนทบุรี16.วัดยุคันธราวาส จ.นนทบุรี17.วัดบุปผาราม และ 18.วัดเครือวัลย์
หอพระสุราลัยพิมาน ที่ประดิษฐานพระนิรันตรายองค์จริง
หลังจากนั้น ทรงสร้างพระราชทานเพิ่มอีกวัดละองค์ในเวลาต่อมา ปัจจุบัน ‘พระนิรันตราย องค์ดั้งเดิม’ ประดิษฐาน ณ หอพระสุราลัยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง
เหรียญพระนิรันตราย วัดราชประดิษฐ์ ปี 2515 พระกริ่งนิรันตราย ปี 2552
พระนิรันตราย เป็นพระที่มีความศักดิ์สิทธิ์สมดังพระนามของท่าน อันมีความหมายว่า "แคล้วคลาดปราศจากอันตรายมาแผ้วพาน" วัดในสังกัดธรรมยุติกนิกายจึงนิยมจำลองมาสร้างเป็นพระบูชา พระเครื่อง และพระพิมพ์ เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในโอกาสสำคัญต่างๆ ครับผม
โดย อาจารย์ราม วัชรประดิษฐ์ แฟนพันธุ์แท้พระเครื่อง
Share :
|
1 | 2 |