..."เบื้องตะวนตกเมืองสุโขทัยนี้มีอรัญญิกพ่อขุนรามคำแหงกระทำโอยทาน (ให้ทาน:ผู้เขียน) แก่มหาเถรสังฆราชปราชญ์เรียนจบปิฏกไตรหลวกกว่าปู่ครูทั้งหลายในเมืองนี้ทุกคนลุกแต่เมืองศรีธรรมราชมาในกลางอรัญญิกมีพิหารอันหนึ่งบนใหญ่สูงงามแก่กมมีพระอัฎฐารสอันหนึ่งลุกยืน ...”
จากเนื้อความแสดงให้เห็นว่าสุโขทัยมีเขตอรัญญิกหรือวัดป่าทางทิศตะวันตกของตัวเมืองและรับเอาสังฆราชปราชญ์ผู้รู้อันได้แก่ภิกษุทั้งหลายมาเป็นแม่แบบจากเมืองนครศรีธรรมราชและทางด้านตะวันตกนี้เองมีเขาสะพานหินที่สะพานทำด้วยหินชนวนอันเกิดจากธรรมชาติและฝีมือของมนุษย์ทอดยาวขึ้นไปบนยอดมีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์และบนสุดมี “พระอัฎฐารส” ประทับยืนเมื่อมองลงมาจะเห็นทัศนียภาพเมืองสุโขทัยอย่างกว้างไกลซึ่งข้าพเจ้ามีโอกาสนำนิสิตทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศขึ้นไปศึกษาหาความรู้มากมายหลายครั้ง
พระยืน สมัยสุโขทัย
มาถึงข้อสันนิษฐานของข้าพเจ้าเองเกี่ยวกับ‘พระอัฎฐารส’ตีความตามนามได้ว่า"อัฎฐะ”แปลว่าแปดเช่นเครื่องอัฎฐบริขารของพระภิกษุสงฆ์8 อย่างรวมกับ “รส” ซึ่งเข้าใจว่าเพี้ยนมาจากคำว่า “ทศ” แปลว่าสิบรวมความแล้วหมายถึงพระยืนสูงถึงสิบแปดศอกเข้าใจว่าเป็นศอกคนโบราณหรือการกะระยะของช่างที่สร้างบางองค์จึงสูงไม่เท่ากันนัก ข้อสันนิษฐานประการต่อมาก็คือทำไมชาวสุโขทัยจึงสร้างพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่แล้วไม่ได้สร้างเฉพาะในเมืองสุโขทัยเท่านั้นหากแต่สร้างไปทั่วในเขตพระราชอำนาจสุโขทัย
มีเค้าเงื่อนว่าองค์พระอัฎฐารสนี้น่าจะมีวิวัฒนาการจากรอยพระพุทธบาทที่พบเห็นอยู่หลายองค์ในราชอาณาจักรแล้วแต่ละพระบาทมีขนาดใหญ่โตคนจึงเกิดจินตนาการว่ารอยบาทพระพุทธองค์ยังใหญ่โตขนาดนี้แล้วองค์จริงของท่านจะใหญ่ขนาดไหนซึ่งสุโขทัยช่วงนั้นพระพุทธศาสนาเจริญอย่างสูงสุดจึงจินตนาการสร้างพระยืนขนาดใหญ่แต่เนื่องจากว่าพระประเภทนี้ในแถบอัฟกานิสถานอินเดียหรือเส้นทางสายไหมมักจะสร้างหรือแกะอิงภูเขาแต่สุโขทัยไม่มีภูเขาให้แกะ เลยต้องสร้างเครื่องรองรับด้านหลังไม่ให้องค์พระล้มครืนลงมาจึงปรากฏในรูปอาคารที่เราเรียกว่า “คันฐกุฎี” กล่าวคือลักษณะคล้ายๆมณฑปแต่มีขนาดแคบมากล้อมรูปปั้นพระพุทธองค์เอาไว้อันคันฐกุฎีนี้จะทำประตูเล็กๆไว้ด้านหน้าแต่เดิมมีเครื่องยอดปัจจุบันปรักหักพังไปหมดแล้วชาวต่างประเทศบางคนเคยถามว่าทำไมต้องให้พระมาอยู่ในสถานที่แคบเล็กดูอึดอัดเช่นนี้ซึ่งสามารถตอบได้ว่า‘คันฐกุฎี’ถือเป็นที่สงบของพระพุทธองค์โดยมิประสงค์จะให้ผู้ใดมารบกวนและไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มากซึ่งความจริงแล้วผูกกันกับโครงสร้างที่ต้องค้ำยันองค์พระพุทธรูปที่มีขนาดสูงใหญ่ไว้ด้วยและไม่แม้แต่พระยืนหากพระนั่งมีขนาดใหญ่ก็จะทำคันฐกุฎีในลักษณะเดียวกันเช่นพระอจนะที่วัดศรีชุมเป็นต้น
พระอัฎฐารสเป็นพระที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญก้าวหน้าและความรุ่งเรืองทางด้านพุทธศิลป์ของสุโขทัยพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วงมักเสด็จไปนมัสการเมื่อวันเพ็ญเดือนออกหรือวันพระสำคัญต่างๆ เข้าใจว่าจะมีการสร้างมาตั้งแต่ก่อนสมัยพระมหาธรรมราลิไท แต่มารุ่งเรืองมากในสมัยของพระองค์ถึงขนาดเมื่อทรงสร้าง‘พระพุทธขินราช’ ที่เมืองพระพิษณุโลกแล้ว ยังโปรดให้สร้างวิหารเก้าห้องทางด้านหลังประดิษฐาน‘พระอัฎฐารส’ ก่ออิฐถือปูนด้วย(สำหรับพระอัฏฐารส ที่เห็นในปัจจุบัน บางส่วนขององค์พระโดยเฉพาะพระเศียร พระพักตร์ เป็นส่วนที่ได้รับการบูรณะซ่อมแซมขึ้นใหม่ ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เพราะก่อนหน้านี้ องค์พระได้ถูกทำลายจนเสียหาย การซ่อมแซมในครั้งนั้น ทำให้ความงดงามของพระพุทธรูปเดิม ซึ่งเป็นศิลปะสุโขทัย สูญเสียไปโดยสิ้นเชิง)
พระอัฎฐารส วัดใหญ่ พิษณุโลก
และพระอัฎฐารสที่วัดใหญ่พิษณุโลกนี่เองในระยะต่อมาเกิดชำรุดหักพังลงมาจึงพบพระพิมพ์เนื้อโลหะค่อนข้างแกร่งเรียกกันว่า “พระยอดอัฎฐารส” มีลักษณะเป็นพิมพ์2 หน้าองค์พระบางส่วนด้านหน้าประทับยืนเฉกเดียวกับ‘พระอัฎฐารส’หากแสดงลักษณะการลีลาประทับยืนอยู่บนฐานเขียงมีเส้นกรอบโดยรอบเป็นเม็ดไข่ปลาด้านหลังเป็นองค์พระนั่งปางสมาธิในซุ้มระฆังเรียกกันว่า ‘ซุ้มอรัญญิก’ นอกจากนั้นยังมีพิมพ์เล็กลักษณะเหมือนกันแต่ขนาดย่อมลงมาทั้งหมดเป็นพระเนื้อชินเขียว (เกิดจากคณาจารย์เล่นแร่แปรธาตุ) มักเห็นไขไข่แมงดาขึ้นเกาะเต็มเข้าใจว่าคงจะบรรจุกรุหลังการสร้างพระอัฎฐารส
พระยอดอัฎฐารส
และขอเตือนว่าเนื้อชินเขียวแพร่ระบาดเหลือเกินที่เห็นเล่นได้ก็จะมีกรุยอดอัฎฐารสวัดใหญ่และมีพบชินเขียวที่พิจิตรและพะเยาบ้างส่วนที่เล่นได้อีกพิมพ์หนึ่งได้แก่พระร่วงทรงเกาะสุโขทัย
วิธีการพิจารณานั้นเนื่องจากองค์พระลางๆเลือนๆให้สังเกตความเก่าให้เป็นกล่าวคือขอบไม่คมหากมีรอยกะเทาะในเนื้อ จะเห็นเป็น‘เนื้อเก่าไม่มันวาว’นอกจากนั้นให้ดู‘สนิมไข’ซึ่งจะฝังแน่นอยู่ตามผิวเป็นเม็ดสีขาวเต่งตึงพอกไปพอกมาบางคนเรียก‘สนิมไข่แมงดา’ส่วนของปลอมนั้นจะไม่เป็นเม็ดเต่งทับไปทับมาส่วนใหญ่จะทำเป็นไขขาวๆคลุมทั่วองค์พระครับผม
โดย อาจารย์ราม วัชรประดิษฐ์ แฟนพันธุ์แท้พระเครื่อง
Share :
|
1 | 2 |