"พระพุทธปฏิมาศิลปะสมัยทวารวดี ลอยมาตามลำน้ำแม่กลองตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวราชบุรีได้ร่วมใจกันอธิษฐาน อัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้สักการะเพื่อเป็นสิริมงคล"
หลวงพ่อแก่นจันทน์ พระพุทธรูปเก่าแก่ประจำจังหวัดราชบุรี ประดิษฐานอยู่ที่วัดช่องลม วัดโบราณ สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา นับเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองราชบุรีที่เคารพศรัทธาของชาวราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียง โดยเชื่อว่าหลวงพ่อแก่นจันทน์เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์และมีบารมีธรรมที่สูงส่งยิ่ง มักมากราบไหว้บูชาขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง โดยส่วนใหญ่ขอให้ช่วยปัดเป่าเหตุร้ายและภยันตรายต่างๆ
หลวงพ่อแก่นจันทน์ เป็นพระพุทธปฏิมาศิลปะสมัยทวารวดี ตั้งแต่พระเศียรถึงพระอุระเป็นเนื้อทองสำริด ส่วนองค์พระสร้างด้วยไม้จันทน์หอม มีความสูงตั้งแต่พระบาทถึงพระเกศมาลา 2.26 เมตร เป็นพระพุทธปฏิมาประทับยืน แสดงปางอุ้มบาตร แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วจะไม่ใช่ลักษณาการอุ้มบาตรเหมือนพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรทั่วๆ ไป บาตรของหลวงพ่อแก่นจันทน์จะดูเหมือนสวมอยู่ในถุงบาตร และมีสิ่งหนึ่งยาวประมาณ 1 คืบ ยื่นออกมาจากขอบถุงบาตรซึ่งอยู่ติดกับขอบปากบาตรทั้งสองข้าง ดูคล้ายม้วนผ้าที่ยื่นออกมาสำหรับมือจับ และพระหัตถ์ของหลวงพ่อแก่นจันทน์ทั้งสองข้างจับอยู่ที่ม้วนผ้านั้นเพื่อไม่ให้บาตรหลุด
สำหรับประวัติการจัดสร้างหลวงพ่อแก่นจันทน์ นั้น พระครูโสภณปัญญาวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดช่องลม บอกกล่าวว่า คนส่วนมากมักเข้าใจตามคำบอกเล่าว่าท่านลอยน้ำมา คล้ายกับประวัติของหลวงพ่อบ้านแหลม และหลวงพ่อโสธร โดยมีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า
... หลวงพ่อแก่นจันทน์สร้างขึ้นที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีชายผู้หนึ่งเข้าไปในป่าเพื่อแสวงหาของป่า ในขณะที่เดินทางเข้าไปในป่าลึกก็ได้พบกับเสือใหญ่ตัวหนึ่ง เมื่อเสือตัวนั้นเห็นเข้าก็วิ่งเข้ามาเพื่อจะทำร้าย ชายผู้นั้นตกใจกลัวรีบวิ่งหนี และในขณะที่กำลังวิ่งหนีนั้นก็ได้ไปพบต้นไม้ใหญ่อยู่ข้างหน้า จึงรีบปืนขึ้นไปบนค่าคบ ซึ่งเจ้าเสือก็วิ่งตามไปจนถึงต้นไม้ใหญ่ ชายผู้นั้นกลัวเสือจะกัดจึงได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า "ถ้าข้าพเจ้ารอดพ้นจากอันตรายคือไม่ถูกเสือกัดในครั้งนี้ ตนจะนำเอาต้นไม้ที่ข้าพเจ้าขึ้นมาอาศัยอยู่นี้ไปแกะเป็นพระพุทธปฏิมา เพื่อให้คนทั้งหลายได้กราบไหว้บูชา" ปรากฏว่าเมื่อชายผู้นี้ตั้งสัตยาธิษฐานเสร็จเสือก็อันตรธานหายไป ชายผู้นั้นดีใจรีบลงมาจากต้นไม้ แล้วกลับบ้านและเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรวมทั้งการตั้งสัตยาธิษฐานของตนให้ชาวบ้านฟัง รุ่งขึ้นชายคนนั้นก็ได้ชักชวนชาวบ้านเข้าไปในป่าเพื่อตัดต้นไม้ที่ตนตั้งใจเอาไว้ เพื่อจะนำมาแกะเป็นพระพุทธปฏิมา โดยได้มีการทำความเคารพเจ้าที่และเทวดาที่รักษาต้นไม้ และขอขมาโทษต่อต้นไม้ จากนั้นก็ช่วยกันโค่นจนต้นไม้นั้นล้มลง และเมื่อพิจารณาดูเนื้อไม้ก็รู้ว่าเป็นไม้จันทน์หอมที่หายาก จึงได้ช่วยกันทอนกะให้ได้ความยาวเท่ากับพระที่ตนจะทำ เมื่อทำการแกะสลักเสร็จแล้วก็นำไปประดิษฐานไว้ที่บ้านแก่งหลวง จ.กาญจนบุรี เพื่อให้คนทั้งหลายได้กราบไหว้บูชา ...
ตามประวัติที่กล่าวว่า หลวงพ่อแก่นจันทน์ลอยน้ำมาจากจังหวัดกาญจนบุรีนั้น สันนิษฐานว่า เมื่อคราวหลวงพ่อแก่นจันทน์ ประดิษฐานอยู่ที่บ้านแก่งหลวงนั้น เมื่อถึงหน้าฝนมีน้ำหลากช่วงเดือน 11 ถึงเดือน 12 ฝนคงจะตกหนักจนน้ำท่วมมาก เมื่อน้ำหลากมาถึงบ้านแก่งหลวงก็พัดพาเอาหลวงพ่อแก่นจันทน์ลอยไป พอถึงวัดใดที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำก็ตาม ประชาชนที่เห็นเข้าก็ช่วยกันฉุดกันดึงเพื่อจะนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดของตน แต่หลวงพ่อแก่นจันทน์ก็ไม่ยอมมา ไม่ยอมขึ้น แม้จะพยายามเท่าใดก็ไม่สำเร็จ กระทั่งหลวงพ่อแก่นจันทน์ลอยมาถึงวัดช่องลม ท่านก็ได้ลอยวนอยู่หน้าวัดไม่ยอมไหลไปตามสายน้ำซึ่งกำลังไหลเชี่ยว หลวงปู่จันทร์ เจ้าอาวาสในสมัยนั้น จึงบอกให้พระสงฆ์และประชาชนมาทำความเคารพกราบไหว้และได้กล่าวอาราธนา แล้วก็พากันลงไปประคองและชะลอองค์ท่านขึ้นจากแม่น้ำ ท่านก็ขึ้นมาโดยง่าย ก่อนอัญเชิญท่านไปประดิษฐานไว้ที่วัดช่องลมแห่งนี้ พร้อมกับจัดงานสมโภชตลอดมา
ปัจจุบัน หลวงพ่อแก่นจันทน์ ประดิษฐานอยู่ที่พระวิหารจตุรมุข วัดช่องลม จ.ราชบุรี โดยพระเทพญาณมุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดช่องลม และที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีได้จัดสร้างถวายเมื่อ พ.ศ.2522 ก่อนที่พระครูโสภณปัญญาวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดช่องลมรูปปัจจุบัน จะได้ก่อสร้างศาลาหลวงพ่อแก่นจันทน์และขยายพระวิหารให้กว้างขึ้นอีก เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มากราบไหว้นมัสการครับผม
โดย อ.ราม วัชรประดิษฐ์
Share :
|
1 | 2 |