หลวงพ่อลี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘ท่านพ่อลี’ อดีตเจ้าอาวาสวัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ ศิษย์สายวิปัสสนากรรมฐานอันดับต้นๆ ของ ‘พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต’ ผู้ริเริ่มและสร้าง ‘วัดอโศการาม’ จนเจริญรุ่งเรืองและมีชื่อเสียงมาจวบถึงปัจจุบัน เป็นที่เคารพศรัทธาของลูกศิษย์ลูกหาและสาธุชนทั่วไป แม้แต่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ยังมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์
หลวงพ่อลี ธมมธโร เป็นชาวบ้านหนองสองห้อง อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี เกิดเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2449 ตอนเด็กค่อนข้างเลี้ยงยาก งอแง และขี้โรค อายุ 12 ปี เริ่มเรียนหนังสือไทย แต่มีสิ่งหนึ่งในความคิดตลอดเวลาก็คือ เรื่องบาปบุญและความปรารถนาที่จะบวชเป็นพระภิกษุในพระบวรพุทธศาสนา จนในปี พ.ศ.2468 อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จึงสมปรารถนาได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ สังกัดมหานิกาย
หลวงพ่อลีได้มีโอกาสพบและฟังเทศน์จาก ‘พระอาจารย์บท’ ศิษย์สายพระอาจารย์มั่น อีกทั้งได้เห็นถึงปฏิทาและการปฏิบัติสังฆกิจต่างๆ จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา ตัดสินใจออกธุดงค์ติดตามพระอาจารย์บท เพื่อไปพบพระอาจารย์มั่น ซึ่งขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดบูรพา จ.อุบลราชธานี ซึ่งท่านได้รับการแนะนำสั่งสอนเพียงสั้นๆ ว่า “คำว่า “พุทโธ” นี้ คือความพิเศษ เป็นดวงแก้วแห่งธรรม” อันเป็นอุบายเบื้องต้นในการปฏิบัติกรรมฐาน นอกจากนี้ยังได้ศึกษาเพิ่มเติมจากพระอาจารย์สิงห์ ขนตยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญญาพโล ที่ บ้านท่าวังหิน อันเป็นสถานที่เงียบสงบเหมาะแก่การเจริญกรรมฐาน
ท่านพากเพียรปฏิบัติธรรมและวิปัสสนากรรมฐาน จนปี พ.ศ.2471 จึงขอแปรญัตติจากมหานิกายเป็น ‘ธรรมยุตินิกาย’ โดย พระอาจารย์มั่น เป็นผู้บรรพชาให้เป็นสามเณร และพระปัญญาพิศาลเถระ (หนู) วัดสระปทุม เป็นพระอุปัชฌาย์ จากนั้นออกธุดงค์กับพระอาจารย์มั่นเรื่อยมา จนพระอาจารย์ให้ออกธุดงค์โดยลำพัง ท่านจึงออกธุดงค์กรรมฐานไปยังสถานที่ต่างๆ รวมถึงเขมร พม่า และอินเดีย จนในที่สุดมาจำพรรษาที่ ‘สำนักสงฆ์แม่ชีขาว’ จ.สมุทรปราการ
ณ สถานที่นี้เอง หลวงพ่อลีได้เริ่มก่อตั้ง ‘สำนักสงฆ์’ โดยเน้นวัตรปฏิบัติในทางธุดงควัตร อาจสืบเนื่องจากท่านได้นิมิตว่าบริเวณนี้เป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ และการให้ชื่อวัดว่า “อโศการาม” นั้น เพราะท่านประสงค์จะให้เป็นอนุสรณ์ระลึกถึงคุณ ‘พระเจ้าอโศกมหาราช’ กษัตริย์อินเดียผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนามายังแถบเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย และได้ก่อสร้างรูปเหมือนพระเจ้าอโศกมหาราช รวมถึงเสนาสนะต่างๆ จนพัฒนาเป็น “วัดอโศการาม” ที่รุ่งเรืองเป็นที่ศรัทธาของพุทธศาสนิกชนมาจนทุกวันนี้
หลวงพ่อลีนับเป็นพระสุปฏิปันโนผู้ประพฤติดีประพฤติชอบ เป็นพระเกจิสายกรรมฐานที่เคร่งครัด เข้มขลัง และทรงอภิญญา เป็นที่เลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนทั่วหล้า สมณศักดิ์สุดท้ายได้รับพระราชทานเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระสุทธิธรรมรังสี คัมภีรเมธาจารย์ ในปี พ.ศ.2500 และมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2504 สิริอายุ 55 ปี 3 เดือน 35 พรรษา
หลังจากหลวงพ่อลีได้มรณภาพไปแล้ว วัดอโศการามยังคงได้รับการพัฒนาสืบต่อมาโดยลำดับ มีการขยายพื้นที่ พร้อมสร้าง “พระธุตังคเจดีย์” ที่ท่านได้วางแบบเอาไว้จนสำเร็จลุล่วง เป็นปูชนียสถานประดิษฐานพระบรมสารีริธาตุ และใช้เป็นสถานปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานภาวนา โดยเฉพาะ “หลักอานาปานสติกัมมัฏฐานะ” ที่ท่านได้วางรากฐานไว้ ชื่อเสียงและเกียรติคุณของท่านยังคงอยู่ในจิตใจของพุทธศาสนานิกชนชาวสมุทรปราการและบรรดาลูกศิษย์ลูกหา ซึ่งเวียนมากราบไหว้ รำลึกถึง ทำบุญ และสร้างกุศลกันสม่ำเสมอ
วัตถุมงคลของหลวงพ่อลีนั้นมีมากมาย ทั้งที่ทันท่านสร้างและหลังจากมรณภาพแล้ว แต่ด้วยบารมีของท่าน วัตถุมงคลทุกประเภทจึงล้วนทรงพุทธคุณ เป็นที่เคารพศรัทธาและแสวงหาของพุทธศาสนิกชนอย่างกว้างขวางตลอดมา โดยเฉพาะ “เหรียญปั๊มที่ระลึกงานผูกพัทธสีมา วัดอโศการาม” ที่สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกในโอกาสผูกพัทธสีมาวัดอโศการาม ในวิสาขฤกษ์ ปี พ.ศ.2503 ซึ่งร่ำลือกันว่า “เหนียวยิ่งนัก”
เหรียญปั๊มที่ระลึกงานผูกพัทธสีมา ปี 2503 นั้น นอกจากมีพุทธคุณเป็นที่เลื่องลือแล้ว ยังเป็นเหรียญที่มีความงดงามมากเหรียญหนึ่งในวงการ เป็นการรวมทั้งเหรียญพระพุทธและเหรียญพระคณาจารย์อยู่ในเหรียญเดียวกัน เท่าที่พบมี เนื้อเงินและเนื้อทองแดงรมดำ
ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปทรงเสมา หูในตัว ด้านหน้า ตรงกลางพระประธานประทับนั่ง แสดงปางปฐมเทศนา ในกงล้อธรรมจักร 8 ซี่ มีอักขระขอมจารึกตรงกงล้อทั้ง 4 ด้าน ว่า “นะ มะ พะ ธะ” ด้านล่าง เป็นพระปัญจวัคคีย์นั่งพนมมือหันหลังให้ ขอบเหรียญเป็นลายกนก ล่างสุดเป็นรูปสระบัว อันหมายถึงบัวสี่เหล่าตามพุทธดำรัส ส่วน ด้านหลัง ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อลีครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ อยู่ในวงกลมเล็ก มีรัศมีกระจายโดยรอบ ล้อมด้วยวงกลมใหญ่อีกชั้นหนึ่ง รอบเหรียญมีอักษรไทยว่า “ที่ระลึกงานผูกพัทธสีมา วัดอโศการาม วิสาขฤกษ์ ๒๕๐๓“ และมีอักขระขอมพร้อมตัว “อุ” ปิดหัวท้าย บริเวณใต้ฐานเหรียญเขียนคำว่า “พระอาจารย์ลี เจ้าอาวาส วัดอโศการาม”
เหรียญรุ่นนี้มีของทำเทียมเลียนแบบจำนวนมาก จะเช่าหาต้องพิจารณาให้ดี ประการสำคัญ การตัดข้างเหรียญเป็นการตัดครั้งเดียว และรูเจาะของเหรียญต้องมีลักษณะปลิ้นครับผม
โดย อ.ราม วัชรประดิษฐ์
Share :
|
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 |