สำหรับชาวเมืองกาญจนบุรีและในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องพระบูชาแล้ว น่าจะไม่มีใครไม่คุ้นกับสมญานามนี้ที่เลื่องลือมาตั้งแต่อดีต ซึ่งนอกเหนือจากกิตติศัพท์ทางพุทธาคมแล้ว พระเกจิทั้ง 2รูป ยังเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ผู้มีคุณูปการมากมายต่อพระบวรพุทธศาสนาและชาวกาญจนบุรี และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรีทั้งคู่ เป็นที่เคารพศรัทธาอย่างสูง ปัจจุบันวัตถุมงคลของท่านยังคงเป็นที่ต้องการและแสวงหา ด้วยค่านิยมที่สูงเอาการทีเดียว
รูปแรก คือ พระวิสุทธิรังสี หรือ หลวงปู่เปลี่ยน อินทสโร ที่มักเรียกขานกันว่า ‘หลวงพ่อวัดใต้ หรือ หลวงปู่วัดใต้’ อดีตเจ้าอาวาสวัดใต้ (วัดไชยชุมพลชนะสงคราม) สมญา “ถ้าเป็นอ้ายเสือต้องวัดใต้” ที่นำมากล่าวก่อน ด้วยท่านมีอาวุโสสูงกว่าครับผม
หลวงปู่เปลี่ยน อินทสโร ท่านเป็นบ้านม่วงชุม อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี เกิดวันเสาร์ เดือน 5 ปีจอ ตรงกับวันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ.2405 ที่เรียกกันว่า “เสาร์ห้า” โยมบิดา-มารดา ชื่อ หมื่นอินทร์รักษา (นิ่ม) – นางจีบ พูลสวัสดิ์ ด้วยความที่เกิดตรงกับ “เสาร์ห้า” ท่านจึงมีความเป็นนักสู้ เข้มแข็ง ทรหดอดทน เรียกได้ว่าเป็นนักเลงเต็มตัวตั้งแต่ยังเด็ก รูปร่างล่ำสัน ผิวดำ จึงเรียกกันว่า “ทองดำ” โยมบิดามารดามีความเป็นห่วงเกรงว่าต่อไปในอนาคตจะเอาดีได้ยาก จึงนำไปฝากให้เรียนหนังสือที่วัดใต้ เป็นศิษย์ พระครูวิสุทธิรังษี (หลวงปู่ช้าง) เจ้าอาวาสและเจ้าคณะเมืองกาญจน์ในสมัยนั้น พระเกจิผู้มีวิทยาอาคมแก่กล้าเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วทั้งเมืองกาญจน์และใกล้เคียง เมื่อมาอยู่วัดทองดำก็เปลี่ยนไป กลายเป็นคนสุขุมเยือกเย็น สุภาพเรียบร้อย และโอบอ้อมอารี โยมบิดาเลยเปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่า “เปลี่ยน” นับแต่นั้นมา เมื่ออายุครบบวชได้อุปสมบทที่วัดใต้ โดยมี หลวงปู่ช้าง เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการรอด วัดทุ่งสมอ และ พระอธิการกรณ์ วัดชุกพี้ เป็นคู่สวด ได้รับฉายา “อินทสโร” ซึ่งเป็นฉายาของผู้เกิดวันอาทิตย์ เนื่องจากพระอุปัชฌาย์เห็นว่า “เสาร์ห้า” เป็นคนชะตากล้าแข็งอยู่แล้ว ถ้าให้ฉายาเป็นคนวันเสาร์เกรงว่าจะกล้าแข็งเกินไป ซึ่งจากเดิมตั้งใจจะบวชเพียง 7 วัน แต่ด้วยบุญบารมี ท่านจึงอยู่ในสมณเพศจวบจนสิ้นอายุขัย มุ่งสืบสานและทำนุบำรุงพระบวรพุทธศาสนาจนชื่อเสียงโด่งดัง
หลังจากอุปสมบท พระภิกษุเปลี่ยนมุ่งมั่นศึกษาเล่าเรียนทั้งหนังสือขอม-หนังสือไทย และปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่างๆ สำเร็จในทุกวิทยาการที่ได้รับการสอนสั่ง เป็นที่ถูกใจของพระอุปัชฌาย์ จึงตั้งให้เป็น ‘พระใบฎีกา’ ฐานาของท่าน
ต่อมา หลวงปู่ช้างมรณภาพลง ทางการจึงแต่งตั้งให้พระใบฎีกาเปลี่ยน เป็นเจ้าอาวาสวัดใต้สืบแทน และเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระครูวิสุทธิรังษี ท่านปกครองและพัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรือง ส่งเสริมและพัฒนาด้านการศึกษาทั้งด้านปริยัติธรรมและกุลบุตรกุลธิดา โดยจัดตั้งโรงเรียนประจำจังหวัด คือ โรงเรียนวิสุทธิรังษี นอกจากนี้ ยังร่วมพัฒนาวัดวาอารามต่างๆ ในจังหวัดมาโดยตลอด จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี ต่อมา รัชกาลที่ 6 โปรดฯ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ที่ พระวิสุทธิรังษี และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราช ได้พระราชทานสร้อยต่อท้ายเป็น พระวิสุทธิรังษีชินศาสนโสภีสังฆปาโมกข์ ท่านมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2490 รวมสิริอายุได้ 85 ปี 64 พรรษา
หลวงปู่เปลี่ยน ถือเป็นอมตเถระรูปหนึ่งของเมืองกาญจนบุรีที่มีชื่อเสียงในยุคสงครามอินโดจีน เป็นที่กล่าวขานว่า ท่านมีพุทธาคมเข้มขลังแก่กล้า แม้ขุนโจรชื่อดังยังต้องเคารพยำเกรง พิธีปลุกเสกและพุทธาภิเษกต่างๆ ต้องมีชื่อของท่านร่วมด้วยเสมอ แม้แต่พระราชพิธีสำคัญๆ อาทิ งานถวายพระเพลิง ร.5, เสวยราชย์ ร.6, งานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี ฯลฯ ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ที่เป็นพระเกจิผู้มีชื่อเสียงต่อมา เช่น พระเทพมงคลรังษี (หลวงปู่ดี) วัดเหนือ จ.กาญจนบุรี และ พระเทพสังวรวิมล (หลวงปู่เจียง) วัดเจริญสุทธาราม จ.สมุทรสงคราม เป็นต้น
วัตถุมงคลของท่านมีมากมาย ทั้งพระเครื่องและเครื่องรางของขลัง อาทิ พระผง เหรียญ เสื้อยันต์ ผ้าประเจียด ชานหมาก ตะกรุด ลูกอม หนังหน้าผากเสือ ฯลฯ ซึ่งล้วนทรงพุทธาคมสูงในทุกด้าน โดดเด่นเรื่องมหาอำนาจและคงกระพันชาตรี เป็นที่นิยมและแสวงหาของบรรดานักนิยมสะสมพระเครื่องและผู้เลื่อมใสศรัทธา ด้วยผู้บูชามักเกิดประสบการณ์เล่าขานเป็นตำนานสืบมา ในที่นี้จะกล่าวถึง “เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก” ซึ่งปัจจุบันค่านิยมสูงลิ่ว หาดูหาเช่ายากยิ่ง เพราะเป็นที่หวงแหนนัก
เหรียญรูปเหมือน หลวงปู่เปลี่ยน รุ่นแรก ปี 2472 บล็อกยันต์ตรง
เหรียญรูปเหมือน หลวงปู่เปลี่ยน รุ่นแรก ปี 2472 บล็อกยันต์เบี่ยง
เหรียญรูปเหมือน หลวงปู่เปลี่ยน รุ่นแรก ปี 2472 สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในการทำบุญอายุครบ 67 ปี ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปอาร์ม หูในตัว ขอบเลื่อย เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงปู่เต็มองค์ นั่งสมาธิบนธรรมาสน์ ด้านล่างระบุปีที่สร้าง “พ.ศ.๒๔๗๒” โดยรอบจารึกอักษรไทยว่า “ที่ระลึกในการทำบุญอายุครบปีพระวิสุทธิรังษี วัดไชยชุมพรการบุรี” ด้านหลัง พื้นเรียบ ผูกเป็นยันต์รูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด จำนวน 4 ช่อง แต่ละช่องบรรจุอักขระหัวใจพระอริยสัจสี่ 1 ตัว มีด้วยกัน 2 บล็อก คือ บล็อกยันต์ตรง และ บล็อกยันต์เบี่ยง จำนวนจัดสร้างทั้งหมดประมาณ 2,000 เหรียญ ซึ่งผู้ครอบครองมีประสบการณ์มากมาย ฟันแทงไม่เข้า ถูกหวยรวยเบอร์กันมานักต่อนักครับผม
โดย อ.ราม วัชรประดิษฐ์
Share :
|
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 |