ยอดเครื่องราง “ปลัดขิกบินได้” หลวงพ่อยิด วัดหนองจอก พระเกจิดังแห่งเมืองกุยบุรี
หน้าแรก » กรุพระ » เครื่องรางของคลัง » ยอดเครื่องราง “ปลัดขิกบินได้” หลวงพ่อยิด วัดหนองจอก พระเกจิดังแห่งเมืองกุยบุรี

     พระครูนิยุตธรรมสุนทร หรือ หลวงพ่อยิด จันทสุวัณโน วัดหนองจอก อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ อีกหนึ่งพระเกจิผู้เปี่ยมด้วยวิทยาอาคมขลัง และอุทิศตนเพื่อพระบวรพุทธศาสนา ดำเนินรอยตามหลักธรรมคำสอนแห่งองค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง เป็นที่เลื่อมใสความศรัทธาของชาวประจวบคีรีขันธ์และพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ ท่านสร้างและพัฒนาวัดหนองจอกจากที่รกร้างจนสำเร็จลุล่วง หลวงพ่อยิดมีชื่อเสียงโด่งดังตั้งแต่ยุคนั้นมาจนปัจจุบัน วัตถุมงคลของท่านยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง และยิ่งนับวันค่านิยมจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความศักดิ์สิทธิ์เป็นเลิศ ทั้งด้านเมตตา แคล้วคลาด และโชคลาภ ครบครัน โดยเฉพาะ “ปลัดขิก” กับคำร่ำลือว่า ‘สามารถสร้างปาฏิหาริย์บินได้’ ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในหมู่ตำรวจทหาร 
     หลวงพ่อยิด มีนามเดิมว่า ยิด ศรีดอกบวบ เกิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2476 ณ วัดบ้านดอนกรวด อ.เมือง จ.เพชรบุรี  โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายแก้ว-นางพร้อย ในวัยเด็กร่ำเรียนหนังสือกับพระอธิการหวล ซึ่งเป็นหลวงน้า จนอายุ 9 ขวบ จึงบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดนาพรหม โดยมี พระอธิการหวล เป็นอุปัชฌาย์ ศึกษาอักขระเลขยันต์ พระธรรมวินัย และฝึกปฏิบัติสมาธิกับ พระอธิการหวล และ ครูหลี แม้นเมฆ โดยตัวท่านมีความสนใจในด้านวิชาอาคมและสักยันต์เป็นพิเศษ นอกจากนี้ท่านยังได้ออกธุดงค์ฝึกกรรมฐานกับพระอุปัชฌาย์อีกด้วย พออายุ 14 ปี ได้ลาสิกขาออกมาช่วยครอบครัวหาเลี้ยงชีพ ในช่วงนี้เอง หลวงพ่อยิดเริ่มมีชื่อเสียงจากการสักยันต์ เพราะเพื่อนในวัยเดียวกันได้ลองให้สักยันต์ให้ แล้วเกิดมีประสบการณ์จึงเล่ากันปากต่อปาก และมีผู้มาสักยันต์มากขึ้น เมื่ออายุครบบวชท่านจึงเข้าพิธีอุปสมบทที่วัดนาพรหม โดยมี หลวงปู่อินทร์ วัดยาง เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระอธิการหวล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา ‘จันทสุวัณโณ’ 
หลวงพ่อยิด  ได้ศึกษาด้านวิชาอาคมเพิ่มเติม โดยฝากตัวเป็นศิษย์ หลวงพ่อศุข วัดโตนดหลวง และยังได้ออกธุดงค์ศึกษากรรมฐานไปตามสถานที่วิเวกต่างๆ ในหลายพื้นที่ถึงพม่าเป็นเวลาหลายปี จนปี พ.ศ.2487 ได้ทราบข่าวการป่วยของบิดา ท่านจึงเดินทางกลับมาและได้ลาสิกขาเพื่อออกมาดูแลบิดาและมารดาในช่วงท้ายของชีวิต ได้แต่งงานมีครอบครัว ช่วงนั้นลูกศิษย์เก่าๆ พอรู้ข่าวก็มาให้ท่านสักยันต์กันเพิ่มขึ้น จนชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่กล่าวขาน ที่สุดเมื่อโยมบิดา-มารดา ถึงแก่กรรม ในปี พ.ศ.2518 หลวงพ่อยิดจึงได้เข้าพิธีอุปสมบทอีกครั้งที่วัดเกาะหลัก โดยมี หลวงพ่อเกตุ วัดเกาะหลัก เป็นพระอุปัชฌาย์ 
     หลวงพ่อยิด จำพรรษาที่วัดทุ่งน้อย อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งต่อมาชาวบ้านหนองจอกทราบข่าว จึงยกที่ดินจำนวน 21 ไร่ 2 งาน เพื่อให้ท่านสร้างวัด สภาพเป็นพื้นที่รกร้างเต็มไปด้วยป่าไผ่และดงต้นหนาม ท่านเริ่มต้นด้วยการปลูกกุฏิหลังเล็กๆ เป็นที่พักสงฆ์ จากนั้นด้วยความร่วมแรงร่วมใจจากบรรดาญาติโยมและลูกศิษย์ลูกหาที่เคารพศรัทธา ช่วยกันแผ้วถางป่าและสร้างเสนาสนะต่างๆ จนกลายเป็นวัดที่สมบูรณ์และมีชื่อเสียงในที่สุด นอกจากนี้ ท่านยังพัฒนาจิตใจและการศึกษาของเด็กและเยาวชนอย่างเต็มที่ โดยสนับสนุนทุนการศึกษา และทุนอาหารกลางวันแก่โรงเรียนหลายแห่งใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ รวมทั้งร่วมสร้างสาธารณประโยชน์แก่สถานที่ราชการและหน่วยราชการต่างๆ มากมาย
     ท่านมรณภาพลงเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2538 สิริอายุ 71 ปี พรรษาที่ 30 หลังจากนั้น ด้วยความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนและชาวบ้านในพื้นที่ จึงได้ร่วมก่อตั้ง “มูลนิธิพระครูนิยุตธรรมสุนทร (หลวงพ่อยิด จันทสุวัณโณ)” เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของหลวงพ่อ ในการทำนุบำรุงพระบวรพุทธศาสนาและสร้างสาธารณประโยชน์แก่ประชาชนสืบไป

     การสร้างวัตถุมงคลของหลวงพ่อยิด ท่านได้เริ่มทดลองสร้างเพื่อทดสอบพุทธคุณมาตั้งแต่สมัยเป็น ‘อาจารย์ยิด’ แต่สร้างเป็นตะกรุดเพียงไม่กี่ดอก มาเริ่มสร้างอย่างจริงจังเมื่อคราวสร้างวัดหนองจอก โดยสร้างเป็น เหรียญรูปหล่อ และปลัดขิก วัตถุทุกชนิดเมื่อผ่านการปลุกเสกจากท่านแล้ว เชื่อถือกันได้ว่า มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์มาก ที่โด่งดังและรู้จักกันดีทั่วประเทศก็คือ “ปลัดขิก” ว่ากันว่า ท่านมีวิทยาคมแก่กล้าขนาดสามารถเสกปลัดขิกให้บินรอบวัดได้ ก่อนที่จะแจกจ่ายแก่ญาติโยม ซึ่งหลายๆ คนก็ได้ประจักษ์กับสายตามาแล้ว

     ปลัดขิกหลวงพ่อยิด นั้น สร้างหลายรุ่น หลายแบบ มีทั้งวัดแกะเอง ชาวบ้านแกะมาถวาย ฯลฯ ซึ่งล้วนทรงพุทธาคมเป็นที่ปรากฏทั้งสิ้น แต่ด้านสนนราคานั้นแต่ละรุ่นแต่ละแบบก็จะแตกต่างกันไปตามค่านิยมครับผม ... ปิดท้ายด้วย “คาถาบูชาปลัดขิกหลวงพ่อยิด” โดย ตั้งนะโม 3 จบ แล้วว่า ...
     อุ กัณหะเนหะ นะมะพะทะ จะภะกะสะ นะเฮ นะฮา ปะสกที่มา สีกาที่นั่ง หัวเราะให้ดัง
     อุขิกตะขัก หญิงเห็นหญิงรัก ชายเห็นชายทัก คนรักทั้งเมือง พาณิชพาไป ค้าขาย 3 เดือน ได้เลื่อนเป็นเศรษฐี
     อุขิกตะขัก อุขิกตะขัก อุขิกตะขัก  ฤ ฤา ฤ ฤา ฤ ฤา นิมามานิมามา นะชาลีติ สัมปะติจฉามิ

 

โดย     อ.ราม วัชรประดิษฐ์  

Share : แบ่งปันไปยัง facebook

 เครื่องรางของคลังอื่นๆ

ประกาศจากระบบ