ตาม พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี พ.ศ. 2542 ได้ให้คำนิยาม “ลูกประคำ” ไว้ว่า เป็นลูกกลมๆ ที่ร้อยเป็นพวง สำหรับเป็นเครื่องหมายการนับในเวลาบริกรรมภาวนา หรือสำหรับใช้เป็นเครื่องราง และในสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 17 ได้เขียนอธิบายเกี่ยวกับ “ลูกประคำไทย” ว่า แต่เดิมใช้วิธีนับจำนวนคำด้วยนิ้วมือ แล้วต่อมาใช้เป็นเครื่องอาภรณ์ประดับกายที่ใช้คล้องคอหรือข้อมือ สำหรับวัตถุที่ใช้ทำเม็ดประคำนั้น มีหลายอย่าง สุดแต่ผู้ใช้และฐานะของผู้ใช้ ซึ่งใครนับถือลัทธินิกายหรือศาสนาใด ก็จะประดิษฐ์ขึ้นตามคตินิยมของตน ทั้งจำนวนเม็ดลูกประคำก็มีมากน้อยไม่แน่นอน บางศาสนามีจำนวนถึง 1,008 เม็ดก็มี สำหรับให้นักบวชหรือเจ้าพิธีทางศาสนาใช้ในการบริกรรมภาวนา โดยเชื่อถือกันว่าเป็นเครื่องยั้งจิตใจให้เข้าสู่ภาวนาสมาธิ เพื่อฝึกจิตตานุภาพให้แข็งแรง อดทนต่อการก่อกวนแห่งกิเลสทั้งปวงที่มีให้พ้นไป
สายประคำ หรือที่เรียกกันว่า “ลูกประคำ” นี้ มีต้นกำเนิดมาจาก ‘พระปัทมสัมภวะ’ ผู้เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวพุทธในเนปาล ภูฐาน และทิเบต เป็นอย่างมาก ได้รับการยกย่องว่าเป็น “กูรูรินโปเช (Guru Rinpoche)” ซึ่งแปลว่า อาจารย์ผู้ประเสริฐ ผู้นำพระพุทธศาสนาวัชรยานเข้าสู่ดินแดนทิเบตในศตวรรษที่ 8 เชื่อกันว่าท่านเป็นวัชรนิรมาณกายของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั่วทุกทิศ มีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งไปบำเพ็ญภาวนาที่ถ้ำทองสัมทุนดา (Tongsum Tunda) เมืองกัฟเรแพลนโช้ก ขณะบำเพ็ญสมาธิใต้ต้นโพธิจิต ก็เริ่มคิดที่จะสร้างเครื่องมือนำทางให้คนในท้องถิ่นที่เลื่อมใสพุทธศาสนาได้พบความสงบแห่งจิตใจ มีความสุข และมั่งคั่งด้วยปัญญาและความรู้แจ้ง ท่านจึงได้ประดิษฐ์สิ่งใหม่มอบเป็นของขวัญพิเศษแก่ผู้สนใจการปฏิบัติภาวนา โดยนำเมล็ดของ ‘ต้นโพธิจิต’ ต้นไม้ที่มีเพียงหนึ่งเดียวในโลกที่เนปาล ลักษณะเป็นเม็ดกลมสวยงามมาร้อยเป็นสายแล้วผูกปลายเป็นวง ให้ชาวพุทธใช้เป็นหลักยึดในขณะสวดมนต์ ศรัทธาแห่ง “สายประคำ” หรือ “ลูกประคำ” จึงเป็นเสมือนแหล่งรวมสมาธิ ที่ตั้งของจิตภาวนา
ชาวพุทธมหายาน จะนับลูกประคำไปด้วยในขณะสวดมนต์ ไม่ว่าจะเปล่งเสียงสวดมนต์ออกมา หรือสวดในใจ บางครั้งก็เอ่ยพระนามเทพเจ้าที่เคารพศรัทธา การนับจำนวนรอบที่ได้สวดไปแล้ว ช่วยให้จิตจดจ่อและมั่นคงอยู่กับบทสวดมนต์ โดยจำนวนลูกประคำนั้น มีมาตรฐานว่า หนึ่งสายจะร้อยด้วยลูกประคำจำนวน 18, 27, 54 หรือ 108 เม็ด แต่ส่วนใหญ่จะเป็น 108 เม็ด ตามความเชื่อของทั้งพุทธและพราหมณ์
ลูกประคำ แพร่หลายมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา พระสงฆ์บางรูปทางภาคเหนือก็นิยมใช้ประคำในการเจริญภาวนา เช่น ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา, ครูบาพรหมา พรหมจักโก วัดพระพุทธบาทตากผ้า ฯลฯ แต่ตามความหมายและความรู้สึกของนักนิยมสะสมพระเครื่องและเครื่องรางของขลังนั้น จะมีความหมายนอกเหนือไปจากคำจำกัดความดังกล่าว โดยนิยามความหมายและความเชื่อว่า “ลูกประคำ” เป็นเครื่องรางของขลังอีกชนิดหนึ่งที่นิยมพกพาหรือคล้องคอ เพื่อขอพุทธานุภาพในการคุ้มครองป้องกันภัย และป้องกันการกระทำคุณไสยต่างๆ เป็นต้น
ลูกประคําผงยาจินดามณี หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว
ลูกประคำยอดบายศรี หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า
“ลูกประคำ” นั้น ตามตำรับโบราณจะต้องใช้ว่านมงคล 108 มาบดผสมกับเครื่องยาจินดามณีครั้งหนึ่งก่อน จึงโยงยึดด้วยรักหรือปูน แล้วเจาะรูตรงกลาง นำเอาแผ่นเงินหรือแผ่นทองมาลงอักขระม้วนเป็นตะกรุด เสียบเข้าไปเป็นแกนกลางสำหรับร้อยเชือก ส่วนเชือกนั้นต้องใช้ไหมเจ็ดสีมาควั่นเป็นเชือกร้อยตรงปลายสุด ปั่นให้ฟูและถักเป็นพู่ให้สวยงาม หรือโดยส่วนใหญ่จะนิยมใช้ กะลามะพร้าวตาเดียว งาช้าง (งากำจัด) เขี้ยวเสือ เขี้ยวหมูตัน หรือ เขี้ยวจระเข้ นำมากลึงให้เป็นรูปกลมแล้วเจาะรูตรงกลาง ในปัจจุบัน วัสดุที่ใช้ทำ “ลูกประคำ” ยังมี ไม้จันทน์ หยก พลาสติก ฯลฯ ซึ่งขึ้นอยู่กับจิตใจ เจตนา และความแน่วแน่ของผู้ใช้-ผู้ภาวนา ก็จะสัมฤทธิ์ผลในการเจริญสมาธิภาวนา ได้เมตตา แคล้วคลาด และคุ้มครองป้องกันภัยทั้งสิ้นครับผม
คาถาอาราธนาก่อนจะนำติดตัว
ตั้งนะโม 3 จบ ระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คุณบิดามารดา ครูบาอาจารย์ แล้วว่า ...
สาธุ พุทธยังอาราธนานัง ธัมมังอาราธนานัง สังฆังอาราธนานัง อุกาสะ อาราธนานัง อิมังกายะพันธะนัง อธิษฐาน มิ
โดย อ.ราม วัชรประดิษฐ์
Share :
|
1 | 2 | 3 |