ชี้ตำหนิพระร่วงหลังรางปืน ‘จักรพรรดิแห่งพระเนื้อชิน’
หน้าแรก » กรุพระ » พระดัง (อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต) » ชี้ตำหนิพระร่วงหลังรางปืน ‘จักรพรรดิแห่งพระเนื้อชิน’
“พระร่วงหลังรางปืน หนึ่งในพระชุด “เบญจภาคีพระยอดขุนพล” ที่มีพุทธลักษณะอ่อนช้อยงดงาม สง่า ผึ่งผาย และแฝงด้วยความเข้มขลัง จนได้รับการยกย่องให้เป็น ‘จักรพรรดิแห่งพระเนื้อชิน’”

            พระร่วงหลังรางปืน ขึ้นที่กรุวัดพระปรางค์ หรือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุโขทัย โบราณสถานที่อยู่ใน‘อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย’ลักษณะเป็นพระพิมพ์พุทธศิลปะเขมรยุคบายน ในราวปี ค.ศ.13 ซึ่งเป็นสมัยที่ขอมเรืองอำนาจและเข้าปกครองพื้นที่บริเวณนี้ จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระพิมพ์ที่ "ขอม" เป็นผู้สร้างและบรรจุไว้ในพระปรางค์ องค์พระส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นพระเนื้อชินตะกั่ว ผิวขององค์พระจะมีสีแดงเข้ม บางองค์ออกสีลูกหว้า ลักษณะพิเศษที่น่าสังเกตคือ จะมีไขคลุมอีกชั้นหนึ่งและมีมากกว่าพระร่วงกรุอื่นๆ

            พระร่วงหลังรางปืน มีขนาดความสูงประมาณ 8 ซม. และกว้างประมาณ 2.5 ซม.พุทธลักษณะองค์พระประธานประทับยืน แสดงปางประทานพร อยู่ในซุ้มเรือนแก้ว ยอดซุ้มเป็นลายกนกแบบ ‘ซุ้มกระจังเรือนแก้ว’ ด้านหลังมีลักษณะเฉพาะคือ ‘มีร่องกดลึกลงไปเป็นแนวยาวตลอดองค์พระ’ จากการนำไม้กดหลังพิมพ์เพื่อให้ด้านหน้าติดเต็ม ซึ่งสมัยก่อนมักเรียกกันว่า"หลังกาบหมาก" หรือ "หลังร่องกาบหมาก" ต่อมาปรากฏพุทธคุณทางแคล้วคลาดจากภยันตรายในเรื่องปืน อีกทั้งร่องกาบหมากนั้นมีลักษณะคล้าย "ร่องปืนแก๊ป" จึงขนานนามใหม่ว่า "พระร่วงหลังรางปืน" มาถึงปัจจุบัน ลักษณะร่องรางยังแบ่งได้เป็นแบบร่องรางแคบและแบบร่องรางกว้าง จุดสังเกตสำคัญก็คือ จะปรากฏรอยเสี้ยนจากไม้ที่กดพิมพ์ทั้งสองแบบ

            เอกลักษณ์ของเนื้อและสนิม ของ พระร่วงหลังรางปืน นั้น จะเป็นเนื้อตะกั่วสนิมแดง ซึ่งหากมีรอยระเบิดจะปะทุจากภายในเนื้อออกด้านนอก ถ้าเป็น‘ของปลอม’ มักใช้น้ำกรดกัดทำให้ปริจากด้านนอกเข้าด้านใน และเนื่องจากพระผ่ากาลเวลายาวนาน เมื่อส่องดูจะมีทั้ง ‘สนิมแดง’และ ‘สนิมมันปู’ มีไขขาวแทรกจับเกาะแน่นแกะไม่ออก ส่วน‘ของปลอม’ ใช้ของแหลมทิ่มเบาๆ ก็จะหลุดออก

            วิธีการพิจารณา“พระร่วงหลังรางปืน”ควรมีความรู้ในเรื่องศิลปะขอมประกอบด้วย

  • องค์พระแต่งองค์ทรงเครื่องตามหลัก ‘เทวราชา’
  • พื้นผนังมีการจำหลักลวดลายงดงามมาก เนื่องจากเป็นพระชั้นสูงเยี่ยงกษัตริย์
  • ฝ่าพระหัตถ์ขวายกขึ้นแสดงปางประทานพรอยู่ในระดับเหนือพระอุระ
  • ในองค์ที่สมบูรณ์เมื่อใช้กล้องส่องดูจะเห็นติ่งแซมบริเวณโคนพระอนามิกา (นิ้วนาง) แต่บางองค์สนิมเกาะอาจมองไม่ถนัด
  • พระกรด้านซ้ายปล่อยทิ้งยาวแนบลำพระองค์

          จุดสังเกตสำคัญคือ เส้นนิ้วพระหัตถ์จะทาบลงเป็นเส้นตรงทับชายจีวรจนมองดูเป็นเส้นเดียวกัน และ ฝ่าพระบาทด้านขวาขององค์พระจะกางออกและแผ่กว้าง ส่วนฝ่าพระบาทด้านซ้ายจะงุ้มงอและจิกลง บางทีเวลาพบจะเห็นฝ่าพระบาทชำรุดหรือมีร่องรอยการซ่อม ให้สำเหนียกไว้ว่า “อาจปลอม”เพราะเคล็ดลับสำคัญของการดูพระแท้ คือ ถ้าจุดสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์มีรอยซ่อมต้องระวังไว้ให้ดีครับผม

 

โดย อาจารย์ราม วัชรประดิษฐ์ แฟนพันธุ์แท้พระเครื่อง

Share : แบ่งปันไปยัง facebook

 พระดัง (อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต)อื่นๆ

ประกาศจากระบบ