เจาะลึกพระกริ่งคลองตะเคียน
หน้าแรก » กรุพระ » พระดัง (อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต) » เจาะลึกพระกริ่งคลองตะเคียน

     ได้พูดกันไปแล้วสำหรับข้อมูล ‘พระกริ่งคลองตะเคียน แห่ง เมืองกรุงเก่า’ ที่เป็นที่แสวงหาอย่างกว้างขวางในแวดวงพระเครื่อง ซึ่งคงต้องใช้คำว่า “ตาดีได้ตาร้ายเสีย” คราวนี้เลยมาเจาะลึกในรายละเอียดอันอาจเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจได้ไม่มากก็น้อยครับผม

     พระกริ่งคลองตะเคียน เป็นที่เชื่อกันว่า น่าจะเป็นพระที่พระเกจิอาจารย์เป็นผู้สร้างขึ้นมากกว่าจะเป็นพระกรุ ลักษณะพิเศษมีหลายอย่าง เช่น องค์พระคล้ายพระคงทางเหนือ ภายในกลวงอุดผงเม็ดใบลาน เวลาเขย่าจะมีเสียง เลยกลายเป็น ‘พระกริ่งเนื้อดินองค์แรกและชนิดเดียวของสยาม’ องค์พระได้มีการขุดค้นพบที่ จ.พระนครศรีอยุธยา บริเวณที่เรียกว่า ‘ดงตะเคียน’ มีลำคลองเล็กๆ ไหลผ่าน ยามแล้งน้ำจะแห้งขอด อันเป็นที่มาของชื่อ 
     พระกริ่งคลองตะเคียน แตกรุในราวสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) และภายหลังจากการขุดค้นของกรมศิลปากรแล้ว สำนักโบราณคดีพบว่า บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของกลุ่มวัดเก่าถึง 3 วัด ได้แก่ วัดโคกจินดา ซึ่งพบพระกริ่งคลองตะเคียนอยู่ในกลุ่มนิยม ประกอบด้วย พระกริ่งพิมพ์หน้าใหญ่ หน้าเล็ก พระหน้ามงคล และหน้าฤาษี นอกจากนี้ยังพบพระพิมพ์ปิดตาอีกหลากหลายพิมพ์ ซึ่งกำหนดตามศิลปะเฉพาะของวัดที่สำคัญคือ ลายมือจารหวัดๆ ที่สวยงามลงตัว อันถือเป็นหนึ่งเอกลักษณ์ วัดที่สองคือ วัดสำเภาล่ม (วัดทำใหม่) พบ พระปิดตามหาอุตม์ และพระพิมพ์สมาธิ ซึ่งมีลายมือจารเป็นตัวบรรจงสวยงามเช่นกัน แต่แตกต่างจากวัดโคกจินดาที่ลายมือจะเป็นเส้นหยาบไม่ประณีตเท่า วัดที่สามได้แก่ วัดช้าง ศิลปะจะด้อยกว่าสองวัดข้างต้น ลายมือจารค่อนข้างหวัด เส้นจารหนา ดูหยาบ ไม่สวยงามนัก แต่ก็ดูดุดันเข้มขลังไปอีกแบบ ประการสำคัญก็คือ เป็นพระยุคเดียวกับ ‘พระกริ่งคลองตะเคียน’ สองวัดข้างต้น

   

     พุทธลักษณะองค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย ใต้ซุ้มใบโพธิ์เป็นเม็ดๆ ไม่สู้ประณีตนัก พบทั้งหน้าเดียวและสองหน้า ด้านบนส่วนใหญ่เป็นรอยจีบแหลมขึ้นไป จะมีลักษณะกลมมนบ้างแต่มีน้อย ครูบาอาจารย์เคยท่องให้ฟังถึงสรรพคุณว่า "หน้าใหญ่ ไหล่ยก อกต่ำ ผิวดำสนิท กันเขี้ยวขออสรพิษ ต้องคลองตะเคียน" เป็นการพิจารณาพระได้ส่วนหนึ่งก็คือ พระพักตร์จะกลมใหญ่, หัวไหล่ข้างขวาจะยกสูงกว่าหัวไหล่ข้างซ้าย แต่จะมีบ้างที่หัวไหล่บางองค์ไม่ยกขึ้น หากแต่ราบเรียบเท่ากันทั้งสองข้าง จะเรียก ‘พิมพ์ไหล่ลู่’, ส่วนคำว่า ‘อกต่ำ’ นั้น แบ่งเป็น 2 กระแส คือ อกไม่ชิดกับลำพระศอ ทำให้มองดูอกอยู่ต่ำกว่าพระชนิดอื่น แต่บางคนเรียก ‘อกตั้ง’ เพราะหน้าอกจะนูนใหญ่ตั้งขึ้นมา และ ผิวดำสนิท คือ องค์พระส่วนใหญ่จะเป็นสีดำสนิทและละเอียดทั้งองค์ ผิวขององค์พระเป็นมันขลับ สืบเนื่องจากดินและใบลานที่นำมาจัดสร้าง อีกทั้งมีผู้สันนิษฐานว่าอาจนำไม้ตะเคียนที่มีเนื้อละเอียดมาเป็นส่วนผสมด้วย หากถามว่าสีอื่นมีไหม? ต้องตอบว่ามีครับ เพราะเป็นพระผ่านการเผา มีสีน้ำตาลปนอยู่บ้าง บางทีพบเป็นสีเนื้อผ่าน (คือมีทั้งสองสีในองค์เดียวกัน) แบบนี้ปลอมยาก ซึ่ง ´พิมพ์นิยม´ จะมีอยู่ 2 พิมพ์ คือ พิมพ์หน้าใหญ่ กับ พิมพ์หน้าเล็ก แล้วยังมี พิมพ์เศียรแหลม กับ พิมพ์เศียรมน และ พิมพ์ปิดตา ซึ่งพบน้อยมาก นำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่าอาจจะสร้างในหลายยุคหลายสมัย อย่างไรก็ตาม พระกริ่งคลองตะเคียนก็ยังเป็นพระที่ลือลั่นในเรื่องพุทธคุณ สมัยก่อนนิยมอาราธนาอมไว้ในปากเวลาสู้รบ เขาว่า “เหนียวจริงๆ” และน่าแปลกที่ยิ่งอาราธนาใช้หรือโดนเหงื่อไคล ยิ่งขึ้นมันดำเป็นประกายแวววาวทีเดียว 
     ส่วนการสันนิษฐานว่าเป็นเกจิอาจารย์ขมังเวทย์สร้างขึ้น ไม่ใช่เป็นพระกรุนั้น เนื่องจากจะพบรอยจารอักขระจารเป็นพระคาถาด้วยเหล็กจาร ให้สังเกตดูรอยกดของเหล็กจารจะต้องเก่าลึกและเป็นลายมือเดียวกัน พบว่าลากยาวไม่ปรากฏลอยขาดของเส้น ดูเผินๆ คล้ายเป็นตัวเลขไทยสมัยโบราณ ในพระกริ่งคลองตะเคียน มักจะพบตัวเลข “๓ และ๔” อยู่เสมอ มีผู้สันนิษฐานว่า เป็นตัวย่อของคาถา ‘๓’ คือ มะ อะ อุ ส่วนเลข ‘๔’ คือ นะ มะ พะ ธะ พระคาถาหัวใจพระพุทธเจ้า อันนับเป็นเอกลักษณ์อีกประการหนึ่ง
     พระกริ่งคลองตะเคียน ได้รับความนิยมจากเกจิอาจารย์ผู้เรืองเวทย์สร้างสืบต่อกันเรื่อยมา ขนาดและรูปแบบบางครั้งก็แตกต่างกันไป ‘ของแท้รุ่นแรก’ ราคาจับไม่ลงเลยครับ แต่นักเลงเล่นพระควรจะมีเก็บไว้ในรังให้ได้ รับรองเยี่ยมครับผม

 

โดย อ.ราม วัชรประดิษฐ์

 

Share : แบ่งปันไปยัง facebook

 พระดัง (อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต)อื่นๆ

ประกาศจากระบบ