![]() |
![]() |
พระพุทธรูปเขมรศิลปะนครวัด พระพุทธรูปเขมรศิลปะบายน
สำหรับสยามประเทศ ´พระพุทธรูปทรงเครื่อง´ปรากฏในรูปแบบของพระเครื่อง เช่น พระร่วงหลังรางปืน พระร่วงหลังลายผ้า ฯลฯ ส่วนพระพุทธรูปนั้นมีเค้าโครงในศิลปะบาปวน ศิลปะบายน ที่แพร่หลายในละโว้ อาจทำเป็นรูปพระพุทธรูปปางนาคปรก หรือ พระชัยพุทธมหานาถ และมาปรากฏชัดเจนในสมัยอยุธยา มีการสร้างพระพุทธรูปแต่งองค์ทรงเครื่อง เช่น สวมเทริด หรือศิราภรณ์ มีกุณฑล (ตุ้มหู) สังวาล ทับทรวง ปั้นเหน่ง สนับเพลา รองพระบาท เนื่องจากการแต่งองค์ทรงเครื่องยังไม่เต็มยศมากนักเลยเรียกกันว่า ´พระทรงเครื่องน้อย´
พระร่วงหลังรางปืน พระทรงเครื่องน้อย-พระชัยพุทธมหานาถ พระเทริดขนนก
พระพุทธรูปทรงเครื่องมีความหมายหลาย ´นัย´ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรวมร่างกษัตริย์ให้เป็น ´เทวราชา´ การนับถือพระพุทธเจ้าว่าอยู่ในวรรณะกษัตริย์ แม้แต่การสร้างธาตุเจดีย์หรือสถูปก็ยังทำบัลลังก์และเศวตรฉัตรอยู่ด้านบนแทนความหมายดังกล่าว นอกจากนี้ยังเป็นการอธิบายความว่ากษัตริย์ของสยามเป็น ´หน่อพระพุทธเจ้า´หรือผู้สืบเชื้อสายจากพระพุทธองค์โดยตรง จึงมักนิยมสร้างพระพุทธรูปให้ทรงเครื่องเยี่ยงกษัตริย์ขึ้น
พระทรงเครื่องใหญ่-พระพุทธนิมิตรวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ
ต่อมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลางเรื่อยมา เริ่มนิยมสร้างให้พระพุทธรูปประดับพัสตราภรณ์แบบกษัตริย์อย่างเต็มยศมากขึ้น จึงปรากฏเป็นพระพุทธรูปสวมมงกุฎ มีกรรเจียกจอน ประกอบเครื่องถนิมพิมพาพร อาทิ กุณฑล พาหุรัด ข้อพระกร ธำมรงค์ สร้อยสังวาล ทับทรวง ปั้นเหน่ง สนับเพลา ชายไหว กำไลพระบาท รองพระบาท อย่างอลังการ ตัวอย่างเช่น พระพุทธนิมิตรวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถที่วัดหน้าพระเมรุ พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเรียกกันว่า´พระทรง
เครื่องใหญ่´
พระรัตนโกสินทร์ ทรงเครื่องพระพุทธรูป พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย
สำหรับ พระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์หรือ พระรัตนฯ นั้น จะสังเกตได้ว่าส่วนใหญ่เป็นการเลียนแบบพระพุทธรูปจากสมัยต่างๆ มาผสมผสานกันทั้งสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา จากพระศกที่ละเอียด พระเกตุมาลาคล้ายอุณาโลมเป็นเปลวสูง พระสังฆาฏิยาว แต่ก็ทรงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง รวมถึงช่างฝีมือของไทยมีการพัฒนาด้านศิลปกรรมมากขึ้น เช่น การหล่อพระพุทธรูปด้วยโลหะ การปั้นด้วยดิน การแกะด้วยไม้ เป็นต้น พุทธลักษณะจะเป็นการแสดงพระอิริยาบถต่างๆ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสาวกองค์สำคัญๆ หรือแสดงปางต่างๆ มีอาทิ ปางนาคปรก ปางไสยาสน์ ปางอุ้มบาตร พระสังกัจจายน์ พระสีวลี ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการสร้างเป็นเทวรูปด้วยและเนื่องจากได้รับอิทธิพลเกี่ยวกับคติความเชื่อที่สืบทอดมาว่า พระมหากษัตริย์มีความยิ่งใหญ่มาก การสร้างพระพุทธรูปจึงต้องทรงเครื่องอย่างอลังการ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงพระราชอำนาจในฐานะของธรรมราชาด้วย ดังนั้นจึงมีเครื่องประดับตกแต่งองค์พระที่วิจิตรพิสดารมาก ทั้ง จีวรลายดอกดวงหรือที่เรียกกันว่า จีวรแพร, ทรงชฎา, สร้อยสังวาล, กำไล, ปั้นเหน่ง เป็นต้น บางองค์จะมีฉัตรเป็นชั้นๆ ประกอบส่วนเอกลักษณ์สำคัญที่จะใช้เป็นหลักในการพิจารณาพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์คือ การลงรักปิดทองบนองค์พระรวมถึงการฝังพลอย, มุก, กระจก หรือสีลงยา ในส่วนที่เป็นเครื่องทรงหรือที่ฐานเป็นการเน้นในคติเทวราชาซึ่งค่อยๆคลี่คลายมาเป็นคติจักรพรรดิราช
พระแก้วมรกต
ความนิยมในพระทรงเครื่องที่เรียกว่า ´พระรัตนฯ´ มาปรากฏเด่นชัดในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยมีเค้าเงื่อนจากเครื่องทรงพระแก้วมรกตในสมัยรัชกาลที่ 1 มีอาทิพระพุทธรูปพระนามรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2แต่พระพักตร์และพระศอจะแข็งเหมือนหุ่นกระบอก เข้าใจว่าไม่นิยมให้พระพุทธรูปแสดงอารมณ์และความรู้สึก นอกจากนี้ยังเห็นได้ว่ามีอิทธิพลของจีนปรากฏอยู่ด้วย เนื่องจากรัชกาลที่ 3 ทรงติดต่อค้าขายกับจีนตั้งแต่ยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์
พระรัตนโกสินทร์ ทรงเครื่อง
เอกลักษณ์สำคัญของพระรัตนฯ ที่ได้รับอิทธิพลจากจีน ได้แก่ การปิดทองล่องชาด และการลงรักปิดทอง นอกเหนือจากการทำจีวรหรือพัสตราภรณ์เป็นลายดอก ซึ่งส่วนใหญ่จะทำเป็นลายดอกพิกุล ถ้าเป็นฝีมือช่างหลวงจีวรดอกจะละเอียดมากและบางแนบเนื้อ สันนิษฐานว่าคงจะนำลายผ้าจากต่างประเทศมาทำเป็นลายจีวร และต่อมาก็ทำแพร่หลายไปเป็นพระพุทธรูปปางอื่นๆ และกระจายไปถึงรูปพระอรหันต์ พระอัครสาวก เช่น พระมาลัย พระสังกัจจายน์ หรือรูปเคารพอื่นๆ เช่น พระนารายณ์ทรงโค พระแม่โพสพ ซึ่งล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นถึงความโดดเด่นในการสร้างสรรค์งานศิลปะแห่ง ´พระพุทธรูปทรงเครื่อง´ที่นิยมกันอย่างกว้างขวางสมัยรัตนโกสินทร์ครับผม
โดย อ.ราม วัชรประดิษฐ์ แฟนพันธุ์แท้พระเครื่อง
Share :
|
1 | 2 |