เหรียญพระพุทธหลักล้าน
หน้าแรก » กรุพระ » พระดัง (อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต) » เหรียญพระพุทธหลักล้าน
เหรียญพระพุทธ คือ การจำลองพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนเคารพศรัทธาลงบนเหรียญ และเหรียญที่เริ่มมีการจำลองพระพุทธรูปมาเป็นครั้งแรกต้องยกให้ ‘เหรียญพระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร พ.ศ.2440’ ซึ่งสร้างสมโภชในคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จฯ กลับจากประพาสยุโรป นับแต่นั้นมาก็มีการสร้างเป็น ‘เหรียญพระพุทธ’ กันเรื่อยมา ซึ่งที่มีราคาแพงอันดับต้นๆ มีอยู่หลายเหรียญ อาทิ 1.เหรียญหลวงพ่อพุทธโสธร วัดโสธรวรารามวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา 2.เหรียญหลวงพ่อพระพุทธชินราช จ.พิษณุโลก 3.เหรียญหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยา 4.เหรียญหลวงพ่อมงคลบพิตร จ.พระนครศรีอยุธยา 5.เหรียญหลวงพ่อธรรมจักร วัดเขาธรรมามูล จ.ชัยนาท และ 6.เหรียญหลวงพ่อวัดเขาตะเครา (หลวงพ่อทอง) ต.บางครก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เป็นต้น

            ในจำนวนเหรียญพระพุทธทั้งหมด สุดยอดแห่งความแพงต้องยกให้ เหรียญหลวงพ่อพุทธโสธร รุ่นแรก ปี 2460 ที่นับเป็นสุดยอดวัตถุมงคลหลวงพ่อพุทธโสธร และเป็นเหรียญพระพุทธที่มีราคาแพงที่สุดในประเทศ สร้างขึ้นในสมัยพระอาจารย์หลิน (รักษาการเจ้าอาวาสวัดโสธร) โดย ขุนศิริราชภักดี (เล้ง สันธนะกุล) มัคนายก เป็นผู้ดำเนินการจัดสร้าง เพื่อสมนาคุณผู้มีจิตศรัทธาบริจาคสมทบทุนซ่อมฐานชุกชีหลวงพ่อพุทธโสธร ลักษณะเป็นเหรียญทรงอาร์ม ข้างเลื่อย เนื้อโลหะ 4 ชนิด คือ ทองคำ (หายากมาก) ปัจจุบันค่านิยมกว่า 10 ล้านบาท, เนื้อเงินค่านิยม 2-3 ล้านบาท, เนื้อสัมฤทธิ์ค่านิยมประมาณ 4-7 ล้านบาท และเนื้อทองแดงค่านิยมประมาณ 3-5 ล้านบาท

            เหรียญหลวงพ่อธรรมจักร วัดเขาธรรมามูล จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2461 ความสำคัญของเหรียญรุ่นแรกนี้ก็คือ ได้รับการอธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวจากยอดพระเกจิอาจารย์ของเมืองไทย หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า พระอาจารย์ของ กรมหลวงชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์ ถ้าเป็นเนื้อทองคำ ค่านิยมประมาณ 6-7 ล้านบาท, เนื้อเงินค่านิยมประมาณ 4 แสนบาท ส่วนเนื้อทองแดงประมาณ 2 แสนบาท

            เหรียญหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง มีการจัดสร้างเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2460 แม้ไม่มีการจารึก พ.ศ.ที่สร้างไว้บนเหรียญ แต่เป็นที่ทราบกันว่าสร้างในปีนั้น พร้อมกับ เหรียญหลวงพ่อพุทธโสธร พ.ศ.2460 ค่านิยมประมาณ 2 ล้านบาท

            เหรียญหลวงพ่อพระพุทธชินราช หลังอกเลา สร้างเมื่อปี พ.ศ.2460  เพื่อแจกแก่ผู้ที่มานมัสการพระพุทธชินราชและร่วมทำบุญที่วัด ให้นำไปบูชาติดตัวเพื่อความเป็นสิริมงคลและคุ้มครองป้องกันภัย  มี 2 เนื้อ คือ เนื้อเงินและเนื้อทองแดง ซึ่งหายากทั้ง 2 เนื้อ ค่านิยมอยู่ประมาณ 1-2 ล้านบาท

            เหรียญพระนิรันตราย ปี 2495 วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ พระอารามหลวงในรัชกาลที่ 4 เหรียญนี้ได้ชนวนมวลสารเก่ามาจากหลายๆ แห่ง อีกทั้งมีพระเกจิอาจารย์ยุคก่อนปี 2500 หลายรูปร่วมพิธีปลุกเสก เช่น ท่านเจ้าคุณศรีฯ (สนธิ์) วัดสุทัศนฯ, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก, หลวงพ่อเส่ง วัดกัลยา, หลวงพ่อกึ๋น วัดดอนยานนาวา, หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี และพระคณาจารย์ร่วมสมัยอีกมากมายหลาย จัดเป็นพิธีหลวงที่ใหญ่มากในสมัยนั้น ค่านิยมอยู่ประมาณ 8 แสน -1 ล้านบาท

            เหรียญหลวงพ่อมงคลบพิตร สร้างใน พ.ศ.2460-2463 มี 2 เนื้อ คือ เนื้อทองแดงไม่มีกะไหล่ และเนื้อเงินไม่มีกะไหล่ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ใหญ่ มีห่วงเชื่อม เชื่อกันว่าประกอบพิธีปลุกเสกในพระวิหารหลวงพ่อพระมงคลบพิตร โดยมีหลวงพ่อพระมงคลบพิตร เป็นประธาน นอกจากนี้ยังได้นิมนต์พระคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นเข้าร่วมพิธี เช่น หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ,  หลวงพ่ออ่ำ (พระพุทธวิหารโสภณ) วัดวงษ์ฆ้อง, หลวงพ่อวัดพนัญเชิง และ หลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ  เป็นต้น ค่านิยมของเหรียญอยู่ประมาณ 8 แสน -1 ล้านบาท

            เหรียญหลวงพ่อวัดเขาตะเครา (หลวงพ่อทอง) ต.บางครก อ.บ้านแหลม (เหรียญทองคำ) เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวบางตะบูน มีประวัติความเป็นมาคล้ายกับหลวงพ่อพระพุทธโสธร เหรียญรูปพระพุทธของวัดเขาตะเครานั้นมีการสร้างกันมาตั้งแต่ พ.ศ.2460 เรื่อยมา เหรียญรุ่นแรกหายากมาก โดยเฉพาะเนื้อทองคำ มีค่านิยมหลักล้านเช่นกัน

            พระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ  ถือว่าสุดยอดแห่งประวัติศาสตร์ของวงการพระเครื่อง ที่มีพิธีจัดสร้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีตั้งแต่กรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี มาจนถึงปัจจุบันยังไม่มีพิธีใดจะยิ่งใหญ่เท่า มีพระเกจิอาจารย์ร่วมสมัยจำนวนมาก เรียกว่ารูปใดดังและมีชื่อเสียงในสมัยนั้น ก็นิมนต์มาปลุกเสกทุกวัด เช่น หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี, หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ, พระครูพิศิษฐ์อรรถการ (พ่อท่านคล้าย) วัดสวนขัน จ.นครศรีธรรมราช, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จ.พระนครศรีอยุธยา, หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม จ.นครปฐม, หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม, พระครูทิวากรคุณ (หลวงปู่กลีบ) วัดตลิ่งชัน, พระครูโสภณกัลยานุวัตร (หลวงพ่อเส่ง) วัดกัลยาณมิตร ฯลฯ จึงขึ้นชื่อว่าน่าใช้น่าเก็บอย่างยิ่ง  เนื้อทองคำ มีการจัดสร้างเพียง 2,500 องค์ เพื่อให้สอดคล้องกับปีการจัดสร้าง คือ พ.ศ.2500 ใช้ทองคำหนักประมาณ 6 สลึง สนนราคาในสมัยนั้น 2,500 บาท ปัจจุบันมีค่านิยมประมาณ 8 แสน -1 ล้านบาท

            นอกจากนี้ยังมีการจัดสร้างพระบูชา เพื่อสมนาคุณแก่ผู้ร่วมทำบุญอีกด้วย คือ พระเนื้อทองคำหนัก 1 บาท อีก 15 องค์ มอบเป็นที่ระลึกให้ผู้ร่วมทำบุญสมทบทุนสร้างพุทธมณฑล 10,000 บาท ในครั้งนั้นมีผู้สมทบทุนสร้าง 15 ราย ส่วนเนื้อนากมีการจัดสร้าง 30 องค์ หนัก 1 บาท เพื่อมอบให้เป็นที่ระลึกสำหรับผู้ทำบุญ 5,000 บาท มีผู้ทำบุญ 30 ราย ในขณะที่ผู้ทำบุญ 1,000 บาท จะได้รับมอบพระเนื้อเงิน 1องค์ ปรากฏว่ามีผู้ร่วมทำบุญ 300 ราย

            แต่เนื่องจากจำนวนสร้างมีมากเป็นล้านองค์ ทำให้พระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ บางเนื้อยังคงมีเหลืออยู่ที่พุทธมณฑล ขณะเดียวกันในตลาดพระก็ยังมีการเช่าบูชากันในราคาที่ไม่แพงนัก ยกเว้นพระเนื้อพิเศษ เช่น เนื้อทองคำ เนื้อเงิน หรือดินเผาสีแปลกๆ องค์สวยคมชัดมาก ก็อาจจะมีราคาแพงกว่าองค์ธรรมดาครับผม

โดย อ.ราม วัชรประดิษฐ์ แฟนพันธุ์แท้พระเครื่อง

Share : แบ่งปันไปยัง facebook

 พระดัง (อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต)อื่นๆ

ประกาศจากระบบ