พระกริ่งเชียงตุง กริ่งรุ่นสุดท้าย ใน สมเด็จพระสังฆราช (แพ)
หน้าแรก » กรุพระ » พระดัง (อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต) » พระกริ่งเชียงตุง กริ่งรุ่นสุดท้าย ใน สมเด็จพระสังฆราช (แพ)

     สมเด็จพระสังฆราช (แพ) ทรงโปรดพิมพ์ “พระกริ่งจีนใหญ่” ที่มีความสวยงามในทุกมุมมอง โดยส่วนใหญ่พระองค์จึงใช้ “แม่พิมพ์พระกริ่งใหญ่” ของ พระยาศุภกรบรรณสาร (นุ่ม วสุธาร) ในการสร้างพระกริ่งของพระองค์ในทุกครั้งและทุกปี  ´ระกริ่งเชียงตุง ปี 2486´ นับเป็นพระกริ่งรุ่นสุดท้าย ใน สมเด็จพระสังฆราช (แพ) และยังเป็นการนำแม่พิมพ์ “พระกริ่งใหญ่เดิม” มาใช้ในการจัดสร้างอีกครั้งเป็นครั้งสุดท้ายอีกด้วย

สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทว)

     ความที่ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทว) ทรงโปรดพิมพ์ “พระกริ่งจีนใหญ่” ที่มีความสวยงามในทุกมุมมอง การสร้างพระกริ่งโดยส่วนใหญ่ พระองค์จึงใช้ “พิมพ์พระกริ่งใหญ่” ของ พระยาศุภกรบรรณสาร (นุ่ม วสุธาร) (ผู้อำนวยการกองพระคลังข้างที่ในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นอดีตช่างทองหลวงฝีมือดี และรับอาสาทำแม่พิมพ์พระกริ่งใหญ่ถวายท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ โดยการใช้ตะกั่วตีหุ้มองค์พระกริ่งใหญ่ต้นแบบ ทำให้ได้ขนาดเท่ากับต้นแบบร้อยเปอร์เซ็นต์) ในการสร้างพระกริ่งของพระองค์ในทุกครั้งและทุกปี การสร้างครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2458 คือ ‘พระกริ่งพรหมมุนี’ สมัยทรงครองพระสมณศักดิ์ ที่ พระพรหมมุนี ก็เช่นกัน ครั้นเมื่อกรอกหุ่นเทียนเสร็จตามจำนวนที่จะเข้าหุ่นดินไทยแล้ว พระยาศุภกรบรรณสารก็จะนำแม่พิมพ์กลับไป และเป็นเช่นนี้ทุกครั้งไปมาตลอด
     กระทั่งถึงปี พ.ศ.2466 ทรงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ทรงใช้แม่พิมพ์พระกริ่งใหญ่สร้าง ‘พระกริ่งสมเด็จพระพุฒาจารย์’ หรือ ‘พระกริ่งพุฒาจารย์’ ก่อนที่พระยาศุภกรบรรณสารจะเอาแม่พิมพ์กลับคืนไป จากนั้นท่านก็ถึงแก่อนิจกรรม โดยยังไม่ได้นำแม่พิมพ์กลับมาถวายท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทำให้การสร้างพระกริ่งหลังจากนั้น ต้องเปลี่ยนไปใช้แม่พิมพ์อื่นเป็นเวลาถึง 10 ปี อาทิ พระกริ่งวันรัต ปี 2478-2479, พระกริ่งชนะคน ปี 2481 หรือ พระกริ่งพุทธนิมิต ปี 2484 เป็นต้น
     จนเมื่อปี พ.ศ.2486 คุณหญิงศุภกรบรรณสาร ภรรยาของ พระยาศุภกรบรรณสาร ได้นำ “แม่พิมพ์พระกริ่งใหญ่” ซึ่งเป็นแม่พิมพ์ตะกั่วอันเดิมกลับมาถวาย สมเด็จพระสังฆราช (แพ) และในปีนั้นเอง ทรงโปรดให้หล่อพระกริ่งใหญ่โดยใช้แม่พิมพ์ตะกั่วเดิมนั้น เพื่อประทานแก่เจ้าหน้าที่กรมการศาสนาและพระสงฆ์ที่จะเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ สาธารณรัฐเชียงตุง (ปัจจุบันอยู่ในประเทศพม่า-เมียนม่าร์) ถวายพระนามว่า “พระกริ่งเชียงตุง” โดยสร้างจำนวน 108 องค์ สถาปนาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2486 ขึ้น 15ค่ำ เดือน 12
     พอถึงปีรุ่งขึ้น ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2487 ก็ได้เสด็จดับขันธ์สิ้นพระชนม์  “พระกริ่งเชียงตุง” จึงนับเป็นพระกริ่งรุ่นสุดท้ายในองค์สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทว)
     หลังจากนั้นมา ท่านเจ้าคุณศรีฯ (สนธิ์) ได้นำ “แม่พิมพ์พระกริ่งใหญ่” นี้ มาสร้างพระกริ่งของท่านอีกหลายรุ่น คือ พระกริ่งนวโลกุตตรญาณมุนี, พระกริ่งก้นถ้วยใหญ่, พระกริ่งบรรณรสมงคลมุนี และสุดท้าย พระกริ่งทองทิพย์ ในปี พ.ศ. 2495 แม่พิมพ์ก็ชำรุดเสียหายไม่สามารถใช้งานได้อีก

   

พระกริ่งเชียงตุง

     พระกริ่งเชียงตุง เป็นพระกริ่งที่ทรงสร้างโดยใช้ชนวนพระกริ่งรุ่นต่างๆ ที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงเก็บไว้บนตำหนักสมเด็จฯ ผสมกับเนื้อชนวนพระกริ่ง ปี 2482 และแผ่นทองที่จารพระยันต์ 108 กับ นะ ปถมัง 14 รวมกับแผ่นทองที่เหลือจากการหล่อพระพุทธชินราชอินโดจีน ปี 2485 อีกจำนวนมาก กระแสเนื้อภายในจะออกสีนากอ่อนแล้วกลับเป็นสีน้ำตาล มีทั้งวรรณะอมเขียว ที่เรียกว่า ‘สีไพล (ว่านไพล)’ คือออกสีเขียวเข้ม เพราะแก่ชนวนพระกริ่งนวโลหะ และวรรณะออกน้ำตาลอ่อนและน้ำตาลอมแดง โดยมีท่านผู้รู้ได้ผูกคำพ้องจองกันว่า “พระกริ่งเชียงตุง พิมพ์กริ่งใหญ่ เนื้อเหลืองไพล อุดใหญ่ใกล้บัว”
   พระกริ่งเชียงตุง จำนวน 108 องค์นี้ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้แจกแก่เจ้าหน้าที่กรมการศาสนาที่จะเดินทางไปเชียงตุง และศิษย์ผู้ใกล้ชิดไปประมาณ 30 องค์, เจ้าคุณใหญ่ (เสงี่ยม) ได้ขอไปอีกประมาณ 40 องค์ ส่วนที่เหลือท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เก็บเอาไว้เพราะเป็นรุ่นสุดท้าย ซึ่งมีจำนวนเพียง 20 กว่าองค์เท่านั้น เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ พระกริ่งเชียงตุงที่เหลือจึงตกอยู่กับ ท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์) ผู้เป็นศิษย์เอกครับผม

 

โดย อาจารย์ราม วัชรประดิษฐ์

Share : แบ่งปันไปยัง facebook

 พระดัง (อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต)อื่นๆ

ประกาศจากระบบ